ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัดเทศบาล

เทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ประวัติความเป็นมา

          สถานการณ์ในปัจจุบันสถานการณ์สาธารณภัยหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัยภัยแล้ง ภัยหนาว ภัยจากการก่อวินาศกรรม ภัยจราจร ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ภัยจากไฟป่า ภัยจากโรคระบาดสัตว์และสัตว์น้ำ ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง มีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ภัยพิบัติดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ และการเจริญเติบโตของสังคมเมือง  และภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดสาธารณภัย และภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมากและของรัฐ

          นอกจากนี้จากการศึกษาวัฎจักรสาธารณภัย พบว่าแนวโน้มของการเกิดสาธารณภัย มีความถี่ความรุนแรงและเพิ่มมากขึ้น เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมุ่งหวังให้เกิดความสูญเสียจากสาธารณภัยน้อยที่สุด โดยมุ่งสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ทำให้การบริหารจัดการสาธารณภัย เปลี่ยนทิศทางจากเดิมที่เน้นเรื่อง “ บรรเทาและปฏิบัติการ (Relief and Response) ” ไปเป็นลดผลกระทบและเตรียมพร้อม (Mitigation and Preparedness)”การพัฒนาการบริหารจัดการสาธารณภัยจึงปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติการในเชิงรุก (Proactive Approach) กล่าวคือ จะต้องปฏิบัติการอย่างครบวงจร โดยเน้นไปที่การป้องกัน /การลดผลกระทบ (Prevention and Mitigation) และการเตรียมความพร้อม (Preparedness) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนการเกิดสาธารณภัยควบคู่ไปกับการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาขณะเกิดสาธารณภัยและการฟื้นฟูบูรณะ(Rehabilitation  and Reconstruction) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาหลังการเกิดสาธารณภัย 

 

แผนที่เทศบาลนครขอนแก่น   

          เทศบาลนครขอนแก่น  มีพื้นที่ในความรับผิดชอบ  46  ตารางกิโลเมตร  มีชุมชนในเขตพื้นที่  แบ่งออกเป็น  4  เขต  จำนวน  95  ชุมชน  ปรากฏตามภาพ

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ 

          เทศบาลนครขอนแก่นมีพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยระหว่างเส้นรุ้งที่ 16 องศา 16.8 ลิปดา 00 ฟิลิปดาเหนือ กับเส้นแวงที่ 112 องศา 27.8 ลิปดา 00 ฟิลิปดาตะวันออก มีระยะห่างจากกรุงเทพประมาณ 445 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

หลักเขตที่ 1 : อยู่มุมตะวันตกของเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านเหนือ

          ด้านทิศเหนือ

- จากหลักเขตที่ 1 : เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านเหนือไปทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ฟากตะวันตก

- จากหลักเขตที่ 2 : เป็นเส้นตรงทางทิศตะวันออกถึงหลักเขตที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 300 เมตร

          ด้านทิศตะวันออก

- จากหลักเขตที่ 3 : เป็นเส้นขนาน 300 เมตร กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่เขตริมทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือฟากตะวันออก

- จากหลักเขตที่ 5 : เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตกองพันทหารม้าที่ 6 ด้านทิศตะวันตกและด้านทิศใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 6 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหลักเขตที่ 5 ตามแนวเขตกองพันทหารม้าที่ 6 ระยะ 3,200 เมตร

- จากหลักเขตที่ 6 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนไปบ้านโคกกลางฟากใต้ ห่างจากศูนย์กลางถนนประชาสโมสรตามแนวถนนไปบ้านโคกกลางระยะ 1,400 เมตร

- จากหลักเขตที่ 7  : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 8 ซึ่งตั้งอยู่ที่ริมหนองเลิงเปือยด้านเหนือ ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 209 ต่อเขตเทศบาลเมืองขอนแก่นครอบคลุม-ยางตลาด ตรงกิโลเมตร 3+700 ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 700 เมตร

- จากหลักเขตที่ 8 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 9 ซึ่งตั้งอยู่ริมหนองเลิงเปือยด้านเหนือ ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 209 ต่อเขตเทศบาลเมืองขอนแก่นครอบคลุม-ยางตลาด

- จากหลักเขตที่ 9 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ถึงหลักเขตที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 209 ต่อเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ครอบคลุม- ยางตลาด ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 700 เมตร

          ด้านทิศใต้

- จากหลักเขตที่ 10 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 11 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางไปบ้านดอนบม ฟากตะวันออกห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี หนองคาย (เขตแดน) สายเดิม ตามแนวระยะทาง 800 เมตร

- จากหลักเขตที่ 11 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงหลักเขตที่ 12 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางสายตะวันออกเฉียงเหนือฟากตะวันตก ตรงกิโลเมตร 446+500

- จากหลักเขตที่ 12 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 13 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 300 เมตร

- จากหลักเขตที่ 13 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 14 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ตามแนวเส้นตั้งฉากระยะ 300 เมตร

          ด้านทิศตะวันตก

- จากหลักเขตที่ 14 :เป็นเส้นขนานระยะ 300 เมตร กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สระบุรี-หนองคาย (เขตแดน) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 15 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2131 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ขอนแก่น) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2062 (เหล่านาดี) ฟากใต้

- จากหลักเขตที่ 15 : เป็นเส้นตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถึงหลักเขตที่ 16 ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตาก-ขอนแก่น ฟากเหนือตรงมุมใต้ของเขตมหาวิทยาลัยด้านตะวันตก

- จากหลักเขตที่ 16 : เป็นเส้นเลียบตามแนวเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้านตะวันตกไปทางทิศเหนือ

 

          เมื่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองขอนแก่น พ.ศ.2478 เขตเทศบาลมีพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

 

                                                  ทิศเหนือ            จรด     ตำบลศิลา

                                                  ทิศใต้               จรด     ตำบลกุดกว้าง

                                                  ทิศตะวันออก      จรด     ตำบลพระลับ , ตำบลหนองแสง

                                                  ทิศตะวันตก        จรด     ตำบลเมืองเก่า

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตเทศบาลออก ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่ 46 ตารางกิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ 

 

                                                  ทิศเหนือ            จรด     ตำบลศิลา

                                                  ทิศใต้               จรด     ตำบลเมืองเก่า

                                                  ทิศตะวันออก      จรด     ตำบลพระลับ 

                                                  ทิศตะวันตก        จรด     ตำบลบ้านเป็ด

 

          ต่อมาในปี พ.ศ.2538 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลนครขอนแก่นได้ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 112 ตอนที่ 40 ก ลงวันที่  24 กันยายน 2538 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2538 เป็นต้นไป

 

ประชากร

          จำนวนประชากรและความหนาแน่นประชากร จากข้อมูลของสำนักทะเบียนราษฎร์ของเทศบาลนครขอนแก่น  เมื่อ ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 พบว่าเทศบาลนครขอนแก่น มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 115,243 คน จำแนกเป็น ชาย 53,905 คน หญิง 61,338 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ย 2,505 คนต่อตารางกิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 62,650 ครัวเรือน โดยมีประชากรกลุ่มเสี่ยงภัยที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และอพยพเป็นอันดับแรก จำนวน 57,621 คน